นอกจากขันหมากไทยที่พูดถึงกันไปก่อนหน้านี้แล้ว คู่บ่าว-สาว ที่มีเชื้อสายจีนก็นิยมเลือกที่จัดขันหมากแบบจีนตามประเพณีโบราณ เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วยเช่นกันค่ะ
สำหรับคู่ว่าที่เจ้าบ่าว-เจ้าสาว ชาวไทยเชื้อสายจีน การแต่งงานตามประเพณีจีนให้ถูกต้องตามบรรพบุรุษที่ได้สืบทอดกันมาช้านานนั้น จะมีลำดับขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนอยู่มาก เริ่มตั้งแต่ ฤกษ์สู่ขอ ฤกษ์แต่งงาน ฤกษ์ปูนอน การดูสมพงษ์ การดูดวงชงระหว่างพ่อแม่เจ้าบ่าวและว่าที่สะใภ้ เป็นต้น
แต่ปัจจุบันนี้การจัดงานแต่งงานพิธีจีน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หากว่าคู่บ่าวสาวเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ก็สามารถจัดงานแต่งงานผสมผสานกันระหว่างพิธีไทยจีนก็ได้เช่นกัน
พิธีแห่ขันหมากจะคล้ายกับแบบไทย มีการแห่ขันหมากเหมือนกัน แต่จะต่างกันตรงที่เครื่องขันหมาก ที่จะมีเครื่องขันหมากที่แตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับประเพณีของแต่ละบ้าน โดยที่พิธีจีนดั้งเดิมจะไม่กั้นประตูเงิน ประตูทอง ช่วงแห่ขันหมาก แต่จะกั้นประตูในช่วงพิธีรับตัวเจ้าสาวแทน แต่ในบางกรณีพิธีการก็จะผสมพิธีไทยเข้าไป อาจจะกั้นประตูช่วงแห่ขันหมากก็สามารถทำได้ โดยเถ้าแก่ และพ่อแม่ของฝ่ายชายจะเป็นผู้นำขบวนขันหมากเพื่อเข้าสู่งานพิธี
สำหรับขันหมากจีนนั้นจะมีพานขันหมากและเครื่องขันหมาก ที่ส่วนใหญ่จะสื่อถึงความหมายดีๆ และแฝงคำอวยพรเอาไว้เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับคู่บ่าวสาว พานขันหมากส่วนมากมักจะจัดเป็นคู่ มีความหมายถึงคู่ครอง และจัดพานแบ่งสำหรับฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ที่มีเครื่องขันหมากแตกต่างกันไป ชุดเบื้องต้นดังนี้
พานขันหมากฝ่ายชาย
- พานสินสอดเงินและทอง
- พานแหวนหมั้น
- ส้มเช้งติดอักษร ซังฮี้ สีแดงทุกผล ที่มีความหมายถึง “คู่ยินดี” และสื่อความหมายถึงความดี ถาดละ 24 ผล 2 ถาด
- ขนมจันอับ (แต่เหลี่ยว) ที่ชาวจีนเชื่อกันว่า ความหวานของขนมจะสื่อถึงชีวิตคู่ที่หวานชื่น ห่อกระดาษแดง 2 ห่อ
- ขนมเปี๊ยะ 2 ถาด ที่ถือเป็นขนมมงคลที่ใช้ในพิธีการงานสำคัญมาแต่โบราณ
- ซองแดง 4 ซอง เป็นซองค่าน้ำนม ค่าขนม ค่าแต่งตัวเจ้าสาว และค่าใช้จ่ายอื่น เพื่อแสดงความเคารพและให้เกียรติพ่อแม่ฝั่งเจ้าสาวที่เลี้ยงดูมา
- ส้มตั้งที่ห้องพิธี
*ทุกพาน ปักใบเซียงเช่า ถือเคล็ดว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป
พานขันหมากฝ่ายหญิง
- ส้มเช้งติดอักษร ซังฮี้ สีแดงทุกผล ถาดละ 24 ผล 2 ถาด
- ขนมจันอับ (แต่เหลี่ยว) ห่อกระดาษแดง 2 ห่อ
- กล้วยหอมติดอักษร ซังฮี้ 1 เคลือ ซึ่งหมายถึงการอวยพรให้คู่บ่าว-สาว มีลูกหลานสืบสกุล
- ผ้าห่อสินสอด ธัญพืชพร้อมดอกไม้โปรยสินสอด
*ปักยอดทับทิมทุกพาน เพื่อความเป็นสิริมงคลและถือเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป
ลำดับการนั่ง
ลำดับการนั่งของพิธีแต่งงานแบบจีน จะนั่งต่างกับ พิธีไทย คือพิธีจีน เจ้าสาวจะนั่งอยู่ด้านขวามือของเจ้าบ่าว
และหลังจากพิธีสวมแหวนหมั้นเรียบร้อยแล้ว จะมีการทานขนมอี๋ หรือขนมบัวลอยนั่นเอง ซึ่งหมายถึงให้ทั้ง 2 ครอบครัวรักกันกลมเกลียวเหนียวแน่น ซึ่งขนมอี๋ของบ่าวสาวจะมีไข่ไก่ 2 ฟองในถ้วยขนม หมายถึงความเฟื่องฟู โดยบ่าวสาวจะทานเพียง1ฟอง เหลือไว้1ฟอง เพื่อจะได้เป็นเคล็ดว่าให้บ่าวสาวได้เหลือกินเหลือใช้
อีกพิธีที่สำคัญคือพิธียกน้ำชา คาราวะผู้ใหญ่ (คังแต๊) เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ใหญ่ และทำให้บ่าวสาวได้ทำความรู้จักกับผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายด้วยเช่นกัน
การจัดพิธีแต่งงานและจัดพานขันหมากแบบจีน วิลลา เดอ บัว เรามีทีมงานและพาร์เนอร์ที่เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบงานของคุณ ติดต่อเรา 081-400-2226 Email: villadebuavenue@gmail.com
ขอบคุณข้อมูลจาก คุณวสันต์ สร้อยคำ mc wedding guru
Photo Credit: Cheri Wedding Photography, Chidchanok Photography, Vin Buddy